พระลีลา หลวงพ่อซวง

        
     หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทางด้านไสยเวท ผู้เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร ท่านจะให้ความอนุเคราะห์แก่ศิษย์และขาวบ้านทั่วไป โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เท่าที่กิจของสงฆ์จะทำได้ เช่น การรับกิจนิมนต์ การรดน้ำมนต์ การแจกวัตถุมงคล เป็นต้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสักเพียงใด ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่นเลยแม้แต่น้อย ชาวบ้านแถบวัดชีปะขาว และบ้านใกล้เรือนเคียงต่างก็ให้ความเคารพนับถือ และยกย่องหลวงพ่อซวงเปรียบเสมือนบิดาของพวกเขา โดยจะเรียกหลวงพ่อซวงว่า “พ่อใหญ่” จนติดมาก สำหรับศิษย์หลวงพ่อซวงที่อยู่ต่างถิ่นแดนไกล ต่างเคารพยกย่องท่านมาก และให้สมญานามท่านอย่างยิ่งใหญ่ว่า “เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์”
          พระ ลีลาหลวงพ่อซวง เป็นพระหล่อแบบโบราณ ลักษณะโดยรวมเป็นพระพุทธรูปยืนในลักษณะเยื้องพระวรกายอยู่ในกรอบคล้ายสาม เหลี่ยมหน้าจั่วทรงชะลูด พระหัตถ์ขวาจะยื่นมาตรงพระอุระ (หน้าอก) พระหัตถ์ซ้ายทิ้งขนานกับพระวรกาย  พระบาทขวาแนบขนานกับพื้น ส่วนพระบาทซ้ายยกพระปราษณี (ส้น) ขึ้น แบ่งออกเป็น ๔ พิมพ์ ดังนี้
          ๑. พิมพ์ฐานตุ้ม เป็นพิมพ์แรกที่จัดสร้างขึ้น เอกลักษณ์ที่เด่นชัดคือ ที่ฐานจะมีลักษณะเป็นวงกลม เพื่อให้ตั้งบูชาได้ หลวงพ่อซวงตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้นำไปตั้งบูชา ไม่ต้องการให้นำไปห้อยคอบูชาติดตัว
          ๒.พิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์นี้มีลักษณะเขื่องกว่าพิมพ์ฐานตุ้มเล็กน้อย เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพิมพ์นี้คือ บริเวณพระอุระ ใต้พระหนุ (คาง) จะมีตำหนิคล้ายตัววี ( V )คว่ำ และพระกร (แขน) พระเพลา (ขา) พระวรกาย จะใหญ่กว่าพิมพ์ฐานตุ้ม มองดูค่อนข้างล่ำสัน
          ๓.พิมพ์เศียรปลาไหล พระพิมพ์นี้เป็นการนำ พระลีลาพิมพ์ใหญ่ มาถอดพิมพ์ และแก้ไขตกแต่งใหม่ เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพิมพ์นี้ คือ รอยต่อระหว่างพระเศียรกับพระเกศ ซึ่งมี ๒ ขยัก จะตื้นเขิน ไม่เด่นชัดเหมือนพิมพ์ใหญ่ และพระกร พระเพลา พระวรกาย  จะเล็กเรียวกว่าพิมพ์ใหญ่ บางท่านจึงเรียกพระลีลาพิมพ์นี้ว่า “พิมพ์เศียรชะลูด”
          ๔.พิมพ์ใบข้าว  พระพิมพ์นี้เป็นการนำ พระลีลาพิมพ์ฐานตุ้ม มาถอดพิมพ์ และแก้ไขปรับปรุง ฐานเดิมให้เป็นฐานตัดแบบธรรมดา ตั้งบูชาไม่ได้ พระพิมพ์นี้เมื่อมองดูในลักษณะทั่วไป ตรงส่วนบนจะเรียวเหมือนใบข้าว จึงเรียกพิมพ์นี้ว่า “พิมพ์ใบข้าว” เอกลักษณะที่เด่นชัดของพระพิมพ์นี้คือ พระเศียรและพระเกศจะแลดูกลมกลืนกันไปคล้ายกับหยดน้ำ
          พระลีลาหลวงพ่อซวง มีหลายเนื้อ คือ เนื้อเงิน ทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว อลูมิเนียม และสัมฤทธิ์ (โลหะผสม) ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป  สำหรับเนื้อพิเศษ คือ เนื้อผง เนื้องาแกะ ก็มีเช่นเดียวกัน แต่สร้างไว้น้อยมาก และพบเห็นได้ยาก มักจะตกอยู่กับญาติ และศิษย์ผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่อเท่านั้น
 หลวงพ่อซวง ได้สร้างพระลีลาแจกหลายครั้งหลายคราว อยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ๒๕๐๗ โดยใช้แม่พิมพ์ทั้งหมด ๔ พิมพ์ สลับกันไป
          การสร้างพระ ท่านจะเลือกเอาวันที่มีฤกษ์ผานาทีดีทางไสยศาสตร์ เป็นวันจัดสร้าง เช่น วันที่ตรงกับเสาร์ห้า วันที่ตรงกับพิธีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นต้น  ในด้านของพุทธคุณ พระลีลาหลวงพ่อซวงมีประสบการณ์เด่นชัดทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุด ที่เชื่อถือได้ ชนิดที่แมลงวันไม่ได้กินเลือดกันเลยทีเดียว
          ก่อนที่หลวงพ่อจะมอบพระลีลาของท่านให้แก่ผู้ใด ท่านมักจะเน้นอยู่เสมอว่า “ให้เก็บรักษาไว้ให้ดี ในภายภาคหน้าจะมีค่าเหมือนทองคำ” ซึ่งก็เป็นจริงตามคำกล่าวของท่าน เพราะในปัจจุบัน พระลีลาของท่านมีการเช่าหากันที่ระดับหลักหมื่นขึ้นไป และพุ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ

ที่มาข้อมูล : โดย คุณไพศาล  ถิระศุภะ