หลวงพ่อซวง อภโญ วัดชีปะขาว จ.สิงห์บุรี


ประวัติความเป็นมา
              วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อวัดชีปะขาว หรือวัดชีผ้าขาว บางทีเรียกวัดปะขาวก็มี สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์มาแต่ในรัชกาลนั้น ครั้นล่วงมาน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรีเป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานปักกำหนดเขตรอบโรงพระอุโบสถลงใหม่ใช้แทนวิสุงคามสีมาเดิม โดยให้มีความยาว 15 วา กว้าง 7 วา แล้วโปรดให้ลงเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่งจนเป็นผลสำเร็จ ครั้นการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดศรีสุดาราม ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชอัยยิกาเจ้าของพระองค์ ทรงสถาปนาพระราชทานไว้ตั้งแต่วันจันทร์ขึ้น 1ค่ำ เดือน 12 ปีเถาะ นพศกพุทธศักราช 2410 เป็นปีที่ 15 ในรัชกาล (ปลายรัชกาล) ตามพระราชโองการพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีหลักฐานอยู่ในพระอุโบสถ (พระอุโบสถหลังเก่าปรากฏเป็นวิหาร อยู่หน้าพระอุโบสถปัจจุบัน)

บริเวณที่ตั้งวัด
              วัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 13 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา แบ่งเป็นเขตพุทธาวาส และ สังฆาวาส เฉพาะส่วนที่เป็นธรณีสงฆ์ มีจำนวน 5 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา เมื่อก่อนใช้ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษาวัดศรีสุดาราม สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ครั้นต่อมาได้เปลี่ยนสังกัดไปเป็นโรงเรียนเทศบาลของเทศบาลนครธนบุรีในบัดนี้ได้สร้างอาคารโรงเรียนขึ้นใหม่ด้านหลังพระอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยเงินงบประมาณจำนวน 250,000 บาท ซึ่งยังคงเปิดสอนอยู่ ปัจจุบันนี้เป็นโรงเรียนประถมสังกัดกรุงเทพมหานคร

ข้อมูลประวัติ
                เกิด                    18 มิถุนายน พ.ศ.2442 ณ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี สิงห์บุรี ในสกุล พานิช
                อุปสมบท           วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง
                มรณภาพ           วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2510
                สิริอายุ               69 ปี
               
               หลวงพ่อซวง มีนามเดิมว่า ซวง พานิช เป็นบุตรของ นายเฮง และ นางอ่ำ พานิช  เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๔๒ ที่บ้านพัก ณ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งอยู่เหนือ วัดชีปะขาว ไปเล็กน้อย  เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี ท่านได้บวชที่วัดโบสถ์ ต.ชัยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางกั้นอยู่  พระอุปัชฌาย์ของท่าน คือ หลวงพ่อเฟื่อง วัดสกุณาราม (วัดนก) อ.ไชโย จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณของ จ.อ่างทอง ผู้สร้าง พระพิมพ์สมเด็จวัดนก อันลือลั่น เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่องทั่วไป  เมื่อหลวงพ่อซวงบวชแล้ว ได้รับฉายานามว่า "อภโญ"  จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดชีปะขาว โดยไม่เคยลาสิกขาเลย   ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดชีปะขาว  จนกระทั่งถึงวันที่ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๐ สิริรวมอายุได้ ๖๙ ปี หลวงพ่อซวง ได้รับการถ่ายทอดการฝึกหัดจิตสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานตลอดจนวิชาไสยเวท คาถามอาคมต่างๆ มาจาก ๓ พระคณาจารย์ และอาจารย์ฆราวาสผู้ทรงวิทยาคุณ อันได้แก่  ๑.หลวงพ่อฤทธิ์ วัดบ้านสวน อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย  ๒.หลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ๓.อาจารย์คำ ฆราวาสจอมอาคม ต.พระงาม  อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
               ก่อนที่หลวงพ่อซวงจะมรณภาพ ท่านได้บอกกับคณะกรรมการวัดว่า ถ้าต้องการให้โบสถ์หลังใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่นั้นให้แล้วเสร็จ อย่าเพิ่งฌาปนกิจสังขารของท่าน มิฉะนั้นโบสถ์จะสร้างไม่เสร็จ คณะกรรมการวัดจึงได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของท่าน โดยได้เก็บรักษาร่างของท่านไว้ในหีบไม้อย่างมิดชิด ประดิษฐานไว้บนศาลาการเปรียญ เพื่อให้คณะศิษย์และชาวบ้านได้บูชากราบไหว้ และร่วมทำบุญสร้างโบสถ์หลังใหม่ดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานโบสถ์หลังใหม่ก็สร้างเสร็จตามคำประกาศิตของหลวงพ่อ
               หลังจากที่หลวงพ่อได้มรณภาพไปแล้ว ๒๖ ปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๖ คณะกรรมการวัดได้เปิดหีบไม้ที่บรรจุสรีระสังขารของหลวงพ่อซวง เพื่อทำพิธีฌาปนกิจต่อไป ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้น โดยพบว่าสรีระสังขารของหลวงพ่อไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลาแต่ประการใด ร่างของท่านมีเนื้อหนังมังสาอยู่ครบถ้วน แต่แห้งและแข็งเหมือนหิน คณะกรรมการวัดจึงเปลี่ยนใจ ไม่ทำพิธีฌาปนกิจสรีระสังขารของท่าน โดยนำร่างที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงพ่อบรรจุไว้ในโกศขนาดใหญ่ และสร้างมณฑปเป็นที่ประดิษฐานไว้ภายในวัดชีปะขาว เพื่อเป็นที่บูชากราบไหว้ของคณะศิษย์และชาวบ้านทั่วไป

ภาพตอนแห่สังขารหลวงพ่อซวงครับ
                หลวงพ่อซวง เป็นพระเถระผู้มีจริยาวัตรอันงดงาม สมถะ ไม่ยึดติดรูปสมบัติ ฉันอย่างง่ายๆ ไม่ยอมรับปัจจัยใดๆ เป็นการส่วนตัว ท่านจะยกให้เป็นสมบัติของสงฆ์จนหมดสิ้น นอกจากนี้ท่านยังได้ปฏิเสธการรับสมณศักดิ์และตำแหน่งใดๆ ที่เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีสมัยนั้น (หลวงพ่อทรัพย์-พระราชสิงหวรมุนี วัดสังฆราชาวาส) มอบให้ท่าน  อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อทรัพย์ ได้ขอร้องให้ท่านรับตำแหน่ง "พระวินัยธร” ซึ่งขณะนั้นว่างลงพอดี หลวงพ่อจึงจำเป็นต้องน้อมรับอย่างปฏิเสธมิได้
               หลวงพ่อซวง เป็นผู้ที่มั่นคงในพระธรรมวินัย เน้นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มีฌานอันบริสุทธิ์และพลังจิตอันแก่กล้า จนสำเร็จอภิญญาสมาบัติ สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น การห้ามฝน การย่นระยะทาง การรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า นอกจากนี้ท่านยังมีพลังอำนาจเมตตาบารมีอันสูงส่ง แม้แต่อีกาตาแววท่านยังเลี้ยงจนเชื่อง และรู้ภาษาของมันด้วย

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม
                ท่านสร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายประเภททั้งประเภทหล่อโบราณ  เนื้อโลหะ  เช่น พระลีลา  เหรียญหล่อรูปเหมือนใบเสมา  รูปหล่อ สมเด็จหล่อ  พระกลีบบัวเนื้อปรอท  และนอกจากนั้นยังมี  พระเนื้อผง  รูปถ่าย  ผ้ายนต์            

พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา
                 เมตตามหานิยม  แคล้วคลาด  และคงกระพันชาตรี 

พระลีลา หลวงพ่อซวง

        
     หลวงพ่อซวง อภโย วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เป็นพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทางด้านไสยเวท ผู้เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร ท่านจะให้ความอนุเคราะห์แก่ศิษย์และขาวบ้านทั่วไป โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เท่าที่กิจของสงฆ์จะทำได้ เช่น การรับกิจนิมนต์ การรดน้ำมนต์ การแจกวัตถุมงคล เป็นต้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าสักเพียงใด ท่านก็ไม่เคยปริปากบ่นเลยแม้แต่น้อย ชาวบ้านแถบวัดชีปะขาว และบ้านใกล้เรือนเคียงต่างก็ให้ความเคารพนับถือ และยกย่องหลวงพ่อซวงเปรียบเสมือนบิดาของพวกเขา โดยจะเรียกหลวงพ่อซวงว่า “พ่อใหญ่” จนติดมาก สำหรับศิษย์หลวงพ่อซวงที่อยู่ต่างถิ่นแดนไกล ต่างเคารพยกย่องท่านมาก และให้สมญานามท่านอย่างยิ่งใหญ่ว่า “เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์”
          พระ ลีลาหลวงพ่อซวง เป็นพระหล่อแบบโบราณ ลักษณะโดยรวมเป็นพระพุทธรูปยืนในลักษณะเยื้องพระวรกายอยู่ในกรอบคล้ายสาม เหลี่ยมหน้าจั่วทรงชะลูด พระหัตถ์ขวาจะยื่นมาตรงพระอุระ (หน้าอก) พระหัตถ์ซ้ายทิ้งขนานกับพระวรกาย  พระบาทขวาแนบขนานกับพื้น ส่วนพระบาทซ้ายยกพระปราษณี (ส้น) ขึ้น แบ่งออกเป็น ๔ พิมพ์ ดังนี้
          ๑. พิมพ์ฐานตุ้ม เป็นพิมพ์แรกที่จัดสร้างขึ้น เอกลักษณ์ที่เด่นชัดคือ ที่ฐานจะมีลักษณะเป็นวงกลม เพื่อให้ตั้งบูชาได้ หลวงพ่อซวงตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อให้นำไปตั้งบูชา ไม่ต้องการให้นำไปห้อยคอบูชาติดตัว
          ๒.พิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์นี้มีลักษณะเขื่องกว่าพิมพ์ฐานตุ้มเล็กน้อย เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพิมพ์นี้คือ บริเวณพระอุระ ใต้พระหนุ (คาง) จะมีตำหนิคล้ายตัววี ( V )คว่ำ และพระกร (แขน) พระเพลา (ขา) พระวรกาย จะใหญ่กว่าพิมพ์ฐานตุ้ม มองดูค่อนข้างล่ำสัน
          ๓.พิมพ์เศียรปลาไหล พระพิมพ์นี้เป็นการนำ พระลีลาพิมพ์ใหญ่ มาถอดพิมพ์ และแก้ไขตกแต่งใหม่ เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของพิมพ์นี้ คือ รอยต่อระหว่างพระเศียรกับพระเกศ ซึ่งมี ๒ ขยัก จะตื้นเขิน ไม่เด่นชัดเหมือนพิมพ์ใหญ่ และพระกร พระเพลา พระวรกาย  จะเล็กเรียวกว่าพิมพ์ใหญ่ บางท่านจึงเรียกพระลีลาพิมพ์นี้ว่า “พิมพ์เศียรชะลูด”
          ๔.พิมพ์ใบข้าว  พระพิมพ์นี้เป็นการนำ พระลีลาพิมพ์ฐานตุ้ม มาถอดพิมพ์ และแก้ไขปรับปรุง ฐานเดิมให้เป็นฐานตัดแบบธรรมดา ตั้งบูชาไม่ได้ พระพิมพ์นี้เมื่อมองดูในลักษณะทั่วไป ตรงส่วนบนจะเรียวเหมือนใบข้าว จึงเรียกพิมพ์นี้ว่า “พิมพ์ใบข้าว” เอกลักษณะที่เด่นชัดของพระพิมพ์นี้คือ พระเศียรและพระเกศจะแลดูกลมกลืนกันไปคล้ายกับหยดน้ำ
          พระลีลาหลวงพ่อซวง มีหลายเนื้อ คือ เนื้อเงิน ทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว อลูมิเนียม และสัมฤทธิ์ (โลหะผสม) ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป  สำหรับเนื้อพิเศษ คือ เนื้อผง เนื้องาแกะ ก็มีเช่นเดียวกัน แต่สร้างไว้น้อยมาก และพบเห็นได้ยาก มักจะตกอยู่กับญาติ และศิษย์ผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่อเท่านั้น
 หลวงพ่อซวง ได้สร้างพระลีลาแจกหลายครั้งหลายคราว อยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ๒๕๐๗ โดยใช้แม่พิมพ์ทั้งหมด ๔ พิมพ์ สลับกันไป
          การสร้างพระ ท่านจะเลือกเอาวันที่มีฤกษ์ผานาทีดีทางไสยศาสตร์ เป็นวันจัดสร้าง เช่น วันที่ตรงกับเสาร์ห้า วันที่ตรงกับพิธีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นต้น  ในด้านของพุทธคุณ พระลีลาหลวงพ่อซวงมีประสบการณ์เด่นชัดทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และมหาอุด ที่เชื่อถือได้ ชนิดที่แมลงวันไม่ได้กินเลือดกันเลยทีเดียว
          ก่อนที่หลวงพ่อจะมอบพระลีลาของท่านให้แก่ผู้ใด ท่านมักจะเน้นอยู่เสมอว่า “ให้เก็บรักษาไว้ให้ดี ในภายภาคหน้าจะมีค่าเหมือนทองคำ” ซึ่งก็เป็นจริงตามคำกล่าวของท่าน เพราะในปัจจุบัน พระลีลาของท่านมีการเช่าหากันที่ระดับหลักหมื่นขึ้นไป และพุ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ

ที่มาข้อมูล : โดย คุณไพศาล  ถิระศุภะ

รูปหล่อโบราณ หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาวจ.สิงห์บุรี




            รูปหล่อโบราณของพระคณาจารย์ ที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่องเมืองไทยในอันดับต้นๆ ได้แก่ รูปหล่อโบราณหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร รูปหล่อโบราณหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ (ออกที่วังหนองหลวง) จ.นครสวรรค์  รูปหล่อโบราณหลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ รูปหล่อโบราณเหล่านี้ล้วนเปี่ยมล้นไปด้วยพุทธคุณ มีการเช่าหากันในวงการพระเครื่องค่อนข้างสูงมานานแล้ว
            รูปหล่อโบราณ ของท่านสร้างขึ้นโดยคณะกรรมการวัดได้ขออนุญาติจัดสร้างขึ้นเพื่อสมนาคุณผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างโบสถ์หลังใหม่
           คณะกรรมการวัดได้ไปว่าจ้างช่างหล่อ แถบหมู่บ้านบางมอญ ใกล้กับวัดสว่างอารมณ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี จำนวนสร้าง ๔๐๐ องค์ เนื้อทองเหลือง สร้างโดยกรรมวิธีหล่อแบบโบราณ ซึ่งหลวงพ่อได้มอบแผ่นทองเหลืองชนวนที่ท่านลงอักขระเลขยันต์ไว้แล้ว นำไปเป็นส่วนผสมด้วย
           ลักษณะองค์พระ เป็นรูปหลวงพ่อซวงในท่านั่งสมาธิ ใต้ฐานเป็นเลขหนึ่งไทย เป็นร่องลึกลงไปในพิมพ์ หลวงพ่อได้นำพระทั้งหมดใส่ไว้ในบาตร แล้วนำไปปลุกเสกที่โบสถ์หลังเก่า ซึ่งเป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีทางเข้าออกทางเดียว
           การปลุกเสกของหลวงพ่อซวง ท่านจะใช้วิธีพิเศษที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ ท่านจะนำบาตรที่บรรจุรูปหล่อโบราณของท่าน ตั้งไว้หน้าพระประธาณในโบสถ์หลังเก่า คลุมด้วยผ้าขาว โดยท่านจะหมุนเวียนตำแหน่งที่นั่งปลุกเสกไปจนครบทั้ง ๔ ทิศ คือ ทิศเหนือ ใต้ ตก ออก ทิศละ ๑ ชั่วโมง รวมเวลาปลุกเสก ๔ ชั่วโมง
           หลังจากนั้น ท่านจะนำบาตรน้ำมนต์มาตั้งไว้หน้าบาตรที่บรรจุรูปหล่อโบราณดังกล่าว แล้วนำกระดานชนวนมาเขียนอักขระเลขยันต์ด้วยดินสอชนวน จนเต็มกระดานชนวน จากนั้นท่านได้กำหนดจิตเป่าพรวดไปที่กระดานชนวน สิ่งมหัศจรรย์ตามมา คือ อักขระเลขยันต์จะไปปรากฏลอยเด่นอยู่บนผิวน้ำในบาตรน้ำมนต์ แสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อซวงท่านได้สำเร็จวิชา นะปัดตลอด ขั้นตอนต่อมาท่านจะนำน้ำพุทธมนต์นั้นมาประพรมบนผ้าขาว ที่คลุมบาตรบรรจุรูปหล่อโบราณดังกล่าวไว้จนชุ่มโชก เป็นอันเสร็จพิธีปลุกเสกพระตามตำราของท่าน
           คณะกรรมการได้นำรูปหล่อโบราณรุ่นนี้ ออกแจกจ่ายสมนาคุณแก่ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างโบสถ์หลังใหม่   โดยผู้ที่ร่วมบริจาค ๕๐ บาท จะได้รับแจกรูปหล่อโบราณ ๑ องค์ ซึ่งได้รับความนิยมกันมาก จนพระหมดอย่างรวดเร็ว
           รูปหล่อโบราณหลวงพ่อซวง จำแนกได้เป็น ๒ พิมพ์ พิมพ์แรกมีลำคอค่อนข้างยาว หน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย ฐานขององค์พระค่อนข้างหนา จึงเรียกกันว่า “พิมพ์ฐานสูง” จำนวน ๒๐๐ องค์ ส่วนพิมพ์ที่สอง มีลำคอค่อนข้างสั้นกว่าพิมพ์แรก หน้าไม่เชิด ฐานขององค์พระค่อนข้างบาง จึงเรียกกันว่า “พิมพ์ฐานเตี้ย” จำนวน ๒๐๐ องค์
           รูปหล่อโบราณทั้ง ๒ พิมพ์นี้ได้รับความนิยมพอๆ กัน ผู้ที่นำไปสักการบูชาติดตัวต่างได้รับประสบการณ์นานัปการ ทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มหาอุด และคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ แบบครอบจักรวาลเลยทีเดียว
           ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๔) มีการเช่าหารูปหล่อโบราณทั้ง ๒ พิมพ์นี้อยู่ที่ ๑-๓ แสนบาท ตามสภาพความสวยงามคมชัด คาดว่าในอนาคตอันใกล้ ราคาจะต้องทะลุหลักแสนกลางขึ้นไปอย่างแน่นอน
           ท่านผู้อ่านที่สนใจรูปหล่อโบราณหลวงพ่อซวง ขอให้ระมัดระวังไว้ด้วย เนื่องจากมี ของปลอม ระบาดอยู่ในตลาดพระหลายฝีมือ ซึ่งผู้ที่ทำของปลอมขึ้นมานั้นมิใช่ชาวสิงห์บุรี แต่เป็นชาวต่างถิ่นทั้งนั้น ทั้งนี้เนื่องจากชาวสิงห์บุรี ต่างให้ความเคารพนับถือ และยำเกรงในบารมีของหลวงพ่อซวงกันทั้งนั้น ตลอดจนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า ผู้ที่ทำปลอมรูปหล่อโบราณหลวงพ่อซวง จะต้องได้รับภัยพิบัติอย่างแน่นอน...ไม่ช้าก็เร็ว

ที่มาข้อมูล : โดย คุณไพศาล ถิระศุภะ