รูปหล่อโบราณ หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาวจ.สิงห์บุรี




            รูปหล่อโบราณของพระคณาจารย์ ที่ได้รับความนิยมในวงการพระเครื่องเมืองไทยในอันดับต้นๆ ได้แก่ รูปหล่อโบราณหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร รูปหล่อโบราณหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ (ออกที่วังหนองหลวง) จ.นครสวรรค์  รูปหล่อโบราณหลวงปู่สุข วัดโพธิ์ทรายทอง จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ รูปหล่อโบราณเหล่านี้ล้วนเปี่ยมล้นไปด้วยพุทธคุณ มีการเช่าหากันในวงการพระเครื่องค่อนข้างสูงมานานแล้ว
            รูปหล่อโบราณ ของท่านสร้างขึ้นโดยคณะกรรมการวัดได้ขออนุญาติจัดสร้างขึ้นเพื่อสมนาคุณผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างโบสถ์หลังใหม่
           คณะกรรมการวัดได้ไปว่าจ้างช่างหล่อ แถบหมู่บ้านบางมอญ ใกล้กับวัดสว่างอารมณ์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี จำนวนสร้าง ๔๐๐ องค์ เนื้อทองเหลือง สร้างโดยกรรมวิธีหล่อแบบโบราณ ซึ่งหลวงพ่อได้มอบแผ่นทองเหลืองชนวนที่ท่านลงอักขระเลขยันต์ไว้แล้ว นำไปเป็นส่วนผสมด้วย
           ลักษณะองค์พระ เป็นรูปหลวงพ่อซวงในท่านั่งสมาธิ ใต้ฐานเป็นเลขหนึ่งไทย เป็นร่องลึกลงไปในพิมพ์ หลวงพ่อได้นำพระทั้งหมดใส่ไว้ในบาตร แล้วนำไปปลุกเสกที่โบสถ์หลังเก่า ซึ่งเป็นโบสถ์แบบมหาอุด มีทางเข้าออกทางเดียว
           การปลุกเสกของหลวงพ่อซวง ท่านจะใช้วิธีพิเศษที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ ท่านจะนำบาตรที่บรรจุรูปหล่อโบราณของท่าน ตั้งไว้หน้าพระประธาณในโบสถ์หลังเก่า คลุมด้วยผ้าขาว โดยท่านจะหมุนเวียนตำแหน่งที่นั่งปลุกเสกไปจนครบทั้ง ๔ ทิศ คือ ทิศเหนือ ใต้ ตก ออก ทิศละ ๑ ชั่วโมง รวมเวลาปลุกเสก ๔ ชั่วโมง
           หลังจากนั้น ท่านจะนำบาตรน้ำมนต์มาตั้งไว้หน้าบาตรที่บรรจุรูปหล่อโบราณดังกล่าว แล้วนำกระดานชนวนมาเขียนอักขระเลขยันต์ด้วยดินสอชนวน จนเต็มกระดานชนวน จากนั้นท่านได้กำหนดจิตเป่าพรวดไปที่กระดานชนวน สิ่งมหัศจรรย์ตามมา คือ อักขระเลขยันต์จะไปปรากฏลอยเด่นอยู่บนผิวน้ำในบาตรน้ำมนต์ แสดงให้เห็นว่า หลวงพ่อซวงท่านได้สำเร็จวิชา นะปัดตลอด ขั้นตอนต่อมาท่านจะนำน้ำพุทธมนต์นั้นมาประพรมบนผ้าขาว ที่คลุมบาตรบรรจุรูปหล่อโบราณดังกล่าวไว้จนชุ่มโชก เป็นอันเสร็จพิธีปลุกเสกพระตามตำราของท่าน
           คณะกรรมการได้นำรูปหล่อโบราณรุ่นนี้ ออกแจกจ่ายสมนาคุณแก่ผู้ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างโบสถ์หลังใหม่   โดยผู้ที่ร่วมบริจาค ๕๐ บาท จะได้รับแจกรูปหล่อโบราณ ๑ องค์ ซึ่งได้รับความนิยมกันมาก จนพระหมดอย่างรวดเร็ว
           รูปหล่อโบราณหลวงพ่อซวง จำแนกได้เป็น ๒ พิมพ์ พิมพ์แรกมีลำคอค่อนข้างยาว หน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย ฐานขององค์พระค่อนข้างหนา จึงเรียกกันว่า “พิมพ์ฐานสูง” จำนวน ๒๐๐ องค์ ส่วนพิมพ์ที่สอง มีลำคอค่อนข้างสั้นกว่าพิมพ์แรก หน้าไม่เชิด ฐานขององค์พระค่อนข้างบาง จึงเรียกกันว่า “พิมพ์ฐานเตี้ย” จำนวน ๒๐๐ องค์
           รูปหล่อโบราณทั้ง ๒ พิมพ์นี้ได้รับความนิยมพอๆ กัน ผู้ที่นำไปสักการบูชาติดตัวต่างได้รับประสบการณ์นานัปการ ทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มหาอุด และคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ แบบครอบจักรวาลเลยทีเดียว
           ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๔) มีการเช่าหารูปหล่อโบราณทั้ง ๒ พิมพ์นี้อยู่ที่ ๑-๓ แสนบาท ตามสภาพความสวยงามคมชัด คาดว่าในอนาคตอันใกล้ ราคาจะต้องทะลุหลักแสนกลางขึ้นไปอย่างแน่นอน
           ท่านผู้อ่านที่สนใจรูปหล่อโบราณหลวงพ่อซวง ขอให้ระมัดระวังไว้ด้วย เนื่องจากมี ของปลอม ระบาดอยู่ในตลาดพระหลายฝีมือ ซึ่งผู้ที่ทำของปลอมขึ้นมานั้นมิใช่ชาวสิงห์บุรี แต่เป็นชาวต่างถิ่นทั้งนั้น ทั้งนี้เนื่องจากชาวสิงห์บุรี ต่างให้ความเคารพนับถือ และยำเกรงในบารมีของหลวงพ่อซวงกันทั้งนั้น ตลอดจนมีความเชื่ออย่างสนิทใจว่า ผู้ที่ทำปลอมรูปหล่อโบราณหลวงพ่อซวง จะต้องได้รับภัยพิบัติอย่างแน่นอน...ไม่ช้าก็เร็ว

ที่มาข้อมูล : โดย คุณไพศาล ถิระศุภะ